สำนักข่าวเอเอฟพี เผยว่า แผ่นดินไหวรุนแรงที่ถล่มตุรกี – ซีเรีย ช่วงเช้าวันจันทร์ (6 ก.พ.) เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน
สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
ประชาชนกว่า 4,300 คน เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว 7.8 แมกนิจูด ในตุรกีบริเวณพรมแดนซีเรีย และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเกิด “อาฟเตอร์ช็อกสั่นสะเทือนตลอดทั้งวัน”
ด้าน “โรเจอร์ มัสสัน” ผู้ร่วมวิจัยกิตติมาศักดิ์ จากหน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า อีกสาเหตุหนึ่ง คือ เหตุแผ่นดินไหวตุรกีเกิดในช่วงเวลา 4.17 น. ตามเวลาท้องถิ่น นั่นหมายความว่า ผู้คนที่กำลังหลับใหลถูกขังอยู่ในบ้านที่พังถล่มยับเยิน
“โครงสร้างของอาคารต่างๆ ไม่เหมาะสมในพื้นที่ ที่อ่อนไหวต่อเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่” มัสสัน กล่าว และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวสงบนิ่งมานานแล้ว
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นหนึ่งในเขตเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวที่สุดในโลก
ซ้ำรอยแผ่นดินไหว 1822
มัสสันเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ คล้ายเหตุแผ่นดินไหว 7.4 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันเมื่อวันที่ 13 ส.ค.1822 สร้างความเสียหายมหาศาล เมืองทั้งเมืองพังราบ และประชาชนล้มตายนับหมื่น ทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกสั่นสะเทือนต่อเนื่องจนถึงเดือนมิ.ย.ของปีถัดไป
ส่วนจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อวันจันทร์ (6 ก.พ.) ลึก 17.9 กิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างตื้น และเกิดใกล้เมืองกาซีอันเท็พที่มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 2 ล้านคน
มัสสัน เผยว่า “แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากแผ่นเปลือกโลกอาหรับเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ครูดผ่านแผ่นดินตุรกี” และย้ำว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวสำคัญน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนว่ากระทบไปไกลมากเพียงใด ซึ่งในกรณีนี้เสียหายในระยะประมาณ 100 กิโลเมตร
“นั่นหมายความว่า ที่ใดก็ตามในระยะ 100 กิโลเมตร ตามแนวรอยเลื่อน เป็นจุดที่อยู่เหนือแผ่นดินไหวอันทรงพลังอย่างแน่นอน” มัสสัน ระบุ
โครงสร้างตึกคือสิ่งสำคัญ
“คาร์เมน โซลานา” นักภูเขาไฟวิทยา จากมหาวิทยาลัยพอร์ทส์มัธ ของอังกฤษ เผยว่า เนื่องจากแผ่นดินไหวไม่สามารถคาดเดาได้ อาคารต้านแรงสั่นสะเทือนจึงเป็นสิ่งสำคัญในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ
“โครงสร้างที่อ่อนไหว จึงเกิดความเสียหายเป็นหย่อมๆ ในทางตอนใต้ของตุรกี โดยเฉพาะพรมแดนซีเรีย ดังนั้น ความปลอดภัยของชีวิตขึ้นอยู่กับความพยายามปกป้องชีวิตผู้คน” โซลานา กล่าว
ด้าน “บิล แมกไกวร์” นักภูเขาไฟวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เผยว่า โครงสร้างตึกหลายแห่งในซีเรีย เสื่อมโทรมมามากกว่าสงครามสิบปีเสียอีก
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2542 รัฐบาลตุรกีอนุมัติกฎหมายในปี 2547 โดยมีคำสั่งให้การก่อสร้างใหม่ทั้งหมด ต้องตรงตามมาตรฐานป้องกันแผ่นดินไหวยุคใหม่
“โจแอนนา ฟอเร วอล์กเกอร์” หัวหน้าสถาบันลดความเสี่ยง และภัยพิบัติแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เรียกร้องให้ตุรกีตรวจสอบว่า กฎหมายมาตรฐานป้องกันแผ่นดินไหวได้นำไปปฏิบัติในเหตุภัยพิบัติล่าสุดนี้หรือไม่ และขอให้ตุรกีเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาความปลอดภัยของตึกเก่าๆ แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> สาวได้ยินเสียงแปลกๆ จากข้างห้อง อัดคลิปทันนาทีแทะผนังจนทะลุ โผล่มาทั้งหัว!!!