เทคโนโลยี-ดีอีเอส

“เศรษฐพงค์” เผย อนุกมธ.กิจการอวกาศ ชง กมธ.ดีอีเอส ศึกษาสร้างดาวเทียมวงโคจรต่ำ พัฒนาต่อยอดสู่ธุรกิจอวกาศ ชี้ มีประโยชน์ทั้งด้านการสื่อสาร-การแพทย์-เตือนภัยพิบัติ เร่งทำสรุปส่งที่ประชุมสภา

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 66 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กมธ.ดีอีเอส ได้พิจารณารายงานการศึกษาวิจัย เรื่องการใช้ประโยชน์และกำกับดูแลดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) โดย อนุกมธ.กิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบและเห็นว่ามีประโยชน์หลายเรื่อง โดยจะเร่งทำสรุปรายงานเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาให้ทันภายในสมัยนี้ ซึ่งอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลกกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดาวเทียมจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และหากดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าทัน ก็จะสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ของธุรกิจและเศรษฐกิจอวกาศให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะภาคการให้บริการดาวเทียมที่มีแนวโน้มรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทที่พัฒนาและให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพราะประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ จึงมีดาวเทียมที่ให้บริการประเภทนี้จำนวนมาก

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ในอดีตดาวเทียมสื่อสารจะถูกนำไปใช้เพื่อการให้บริการประเภทบรอดคาสต์ ได้แก่ การส่งสัญญาณภาพระหว่างประเทศหรือข้ามทวีป เช่น การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลผ่านดาวเทียม เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการใช้งานดาวเทียมสื่อสารเพื่อรับส่งข้อมูลกำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีจะตอบโจทย์ความต้องการการใช้งานแล้ว ต้นทุนในการพัฒนาก็เริ่มต่ำลงและเกิดการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใช้งานร่วมกับคลื่นความถี่ย่าน Ka-band ที่มีช่วงความถี่สูงขึ้นนั้น ทำให้ดาวเทียมสามารถทำ Bandwidth ได้เพิ่มขึ้น และต้นทุนต่อความจุลดลง รวมทั้งมีคุณภาพของสัญญาณที่ดีขึ้นจนเกือบเทียบเคียงกับโครงข่ายภาคพื้นดินได้ นอกจากนี้การพัฒนาของเทคโนโลยีจรวดนำส่งที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Reusable Rocket) และการผลิตดาวเทียมขนาดเล็กที่มีต้นทุนต่ำลง ทำให้เกิดการสร้างโครงข่ายดาวเทียมประเภท NGSO ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือ Satellite Constellation เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ด้าน ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่ปรึกษา อนุกมธ.กิจการอวกาศ กล่าวว่า อนุกรรมการเห็นว่าควรมีการทดลองพัฒนาและสร้างดาวเทียม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าต้องใช้อะไรเพิ่ม และจะพัฒนาต่ออย่างไร ซึ่งการเริ่มต้นพัฒนาดาวเทียมประเภท NGSO ในรูปแบบกลุ่มดาวเทียม LEO Constellation จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากหากเทคโนโลยีและธุรกิจทั่วโลกขยับไปใช้ดาวเทียมสื่อสารประเภท LEO Constellation จะทำให้ประเทศไทยพัฒนายากลำบากยิ่งขึ้น และต้องวิ่งตามเทคโนโลยีในต่างประเทศ รวมทั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อต้องใช้บริการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงาน กสทช.จะต้องมีนโยบายและการประกาศบังคับใช้ให้สิทธิวงโคจรต่ำประเภทนี้เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม

ดร.อัมรินทร์ กล่าวอีกว่า หากประเทศไทยยังนิ่งเฉย จะทำให้ผู้ประกอบการไทยถูกเอารัดเอาเปรียบ และเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันต่อไปในอนาคต โดยประเทศชาติจะเป็นผู้เสียเปรียบ รายงานการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์และการกำกับดูแลดาวเทียมประเภทไม่ประจำที่ NGO ฉบับนี้ จึงเสนอให้เกิดโครงการนำร่องเพื่อเป็นการเริ่มต้นในการพัฒนากลุ่มดาวเทียม LEO Constellation เพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์ทางไกล และการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน อันนำมาซึ่งการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ และยังเป็นการเรียนรู้ในเทคโนโลยีดาวเทียม LEO Constellation การพัฒนาบุคลากร การพัฒนางานฝีมือ และการสร้างงานสร้างอาชีพ และยกระดับประชาชนในประเทศได้ต่อไป

เทคโนโลยี-ดีอีเอส

อ่านข่าวเพิ่มเติม : มองข้ามชอต เมื่อ Twitter อยู่ในกำมือ Elon Musk